สมุนไพรในครัวเรือนที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด



สมุนไพร


  

สมุนไพรในครัวเรือนที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด



    ในสมุนไพรแต่ละชนิดมีสารต่างๆสะสมอยู่มากเกินกว่าจะตรวจสอบได้ในระยะเวลาอันสั้น จึงต้องรู้จักเลือกใช้ให้ถูกชนิด ถูกวิธี  โดยควรนึงถึงความปลอดภัยก่อนเป็นอันดับแรก

    สมุนไพรบางชนิดอาจมีความแปลกใหม่น่าสนใจ แต่ไม่ได้ผ่านการลองผิดลองถูกมามากพอ ซึ่งแตกต่างจากใช้สมุนไพรตามภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา ดังนั้นควรระวัง หรือหลีกเลี่ยงการรับประทานสมุนไพรที่ไม่มีที่มาที่ไปแน่ชัด

    ในบทความนี้เราคัดเลือกตัวอย่างพืชสมุนไพรที่รับประทานเป็นอาหารได้ มีประวัติการใช้ มีงานวิจัยรองรับ และสามารถหาได้ง่ายในประเทศไทย ไว้สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด


morus alba
1) ใบหม่อน นิยมชงดื่มในรูปแบบชา มีรสชาติดี สารในใบหม่อนช่วยลดการย่อยและดูดซึมอาหารประเภทแป้ง ทำให้ปริมาณน้ำตาลที่ได้จากการย่อยแป้งเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง [1]



Cinnamomum
2) อบเชย เครื่องเทศที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ข้อมูลจากงานวิจัยบ่งชี้ว่า อบเชยมีศักยภาพในการใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาเบาหวาน แต่หากรับประทานบ่อยเกินไปควรระวัง เพราะอบเชยจีน (Cinnamomum cassia (Nees & T. Nees) J. Presl) มีสารคูมาริน (coumarin) สูง จึงอาจเกิดผลข้างเคียงได้ อบเชยลังกา (Cinnamomum zeylanicum Breyn) ซึ่งมีสารชนิดนี้น้อยกว่าจึงอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าในการรับประทานในระยะยาว [2]

ลดน้ำตาลในเลือด
3) ตำลึง ในไทยอาจคุ้นเคยในการใช้เป็นอาหาร แต่ตำลึงมีการใช้เป็นยารักษาเบาหวานตามตำราอายุรเวทของอินเดีย งานวิจัยระบุว่าการรับประทานตำลึงช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังการรับประทานอาหารได้ [3]

พฤกษศาสตร์
4) มะระขี้นก รสขมแต่อุดมไปด้วยสารอาหาร งานวิจัยในห้องปฏิบัติการและในสัตว์ทดลองระบุว่ามะระขี้นกช่วยเพิ่มการหลั่งอินซูลิน ลดการดูดซึมน้ำตาลของลำไส้ และเพิ่มการดูดซึมกลูโคสเข้าสู่เนื้อเยื่อ แม้ว่าประสิทธิภาพในการรักษาเบาหวานยังไม่ชัดเจนนัก แต่ก็ถือว่าเป็นพืชสมุนไพรที่ค่อนข้างปลอดภัย [4]

ประโยชน์ของใบกระเพรา
5) กะเพรา สมุนไพรยอดนิยมคู่ครัวไทย จากงานวิจัยในมนุษย์ระบุว่าใบกะเพราและโหรพาสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ [5] งานวิจัยในสัตว์ทดลองบ่งชี้ว่าสารจากใบกะเพราช่วยป้องกันการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินที่เกิดจากการได้รับน้ำตาลฟรุกโตสปริมาณสูง [6]



    สมุนไพรที่ยกตัวอย่างมานี้สามารถรับประทานเป็นอาหารได้อย่างปลอดภัย หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยให้การรักษาเบาหวานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่หากรับประทานในปริมาณสูงกว่าปกติและทานเพียงอย่างใดอย่างหนึ้งซ้ำนานเกินไปอาจเกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน 

    นอกจากนี้ยังมีสิ่งสำคัญที่ต้องทราบ คือ การรักษาเบาหวานและโรคแทรกซ้อนอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องรักษาแบบผสมผสาน ไม่ใช่เพียงแค่การดูแลระดับน้ำตาลในเลือดเพียงอย่างเดียว เนื่องจากการเกิดเบาหวานมีความเกี่ยวพันกับภาวะแทรกซ้อนอื่นอีกมากมาย ไม่ว่าสมุนไพรหรือยาแผนปัจจุบันจะมีประสิทธิภาพเพียงใด การควบคุมอาหารและการออกกำลังกายก็ยังถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการจัดการกับโรคเบาหวาน

รูปภาพ โดย Gibb Corner
เรียบเรียงโดย

แหล่งอ้างอิง
[1] Józefczuk J, et al. 2017. DOI: 10.1016/j.advms.2017.03.002.
[2] Medagama AB. 2015. DOI: 10.1186/s12937-015-0098-9.
[3] Munasinghe MAAK, et al. 2011. DOI: 10.1155/2011/978762.
[4] Habicht SD, et al. 2014. DOI: 10.2174/1573399809666131126152044
[5] Agrawal P, et al. 1996. International journal of clinical pharmacology and therapeutics, 34(9), 406-409.
[6] Reddy SS, et al. 2008. DOI: 10.1055/s-2007-993218

Comments

Popular posts from this blog

รับประทานวิตามินบีแล้วปัสสาวะเป็นสีเหลือง ปลอดภัยหรือไม่?

“ความเครียดเกิดง่าย L-Theanine จึงน่าสนใจ”