“วิธีทานของหวานแต่ได้รับผลเสียจากน้ำตาลน้อยลง”


calorie restriction mimetic, dietary restriction
เพิ่มคำอธิบายภาพ


วิธีทานของหวานแต่ได้รับผลเสียจากน้ำตาลน้อยลง


    ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีผู้คนมากมายแสวงหายาอายุวัฒนะเพื่อใช้บำรุงร่างกายให้แข็งแรงและมีอายุยืนยาว หลักฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า การควบคุมอาหารหรือแคลอรี่ที่ได้รับต่อวันในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ให้มากหรือน้อยเกินไปเป็นหนึ่งในวิธีชะลอวัยที่ได้ผลดีที่สุด

    แม้ว่าผลดีของการควบคุมอาหารเป็นเรื่องที่รู้กันดี แต่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถบังคับให้คนเลิกทานของหวาน และยากจะห้ามไม่ให้คนทานอาหารเกินปริมาณที่เหมาะสมได้ทุกวัน (แม้แต่บุคลากรทางการแพทย์เองก็ตาม) ไม่เช่นนั้นคงไม่มีคนป่วยเบาหวานมากขึ้นทุกปี

    เมื่อความหวานเป็นความสุขที่ทำให้หลายคนยอมพลีชีพ แม้จะรู้ว่าทานแล้วเป็นการฆ่าตัวตายอย่างช้าๆ จึงเกิดการวิจัยเพื่อหาวิธีให้เราทานเค้กหรือขนมหวานโดยทำร้ายสุขภาพน้อยลง หนึ่งในแนวคิดที่น่าสนใจคือ การค้นหาสารที่ออกฤทธิ์คล้ายกับการควบคุมอาหาร

   *สารที่ออกฤทธิ์คล้ายกับการควบคุมอาหาร (Calorie restriction mimetic หรือ dietary restriction mimetic) มีคำจำกัดความกว้างๆว่า เป็นสารที่มีผลชะลอวัย ส่งผลดีต่อสุขภาพ และช่วยยืดอายุขัย คล้ายกับการควบคุมอาหาร (โดยที่ไม่ได้ควบคุมอาหาร)


ขนมหวาน เค้กสวย

    WHO แนะนำว่าคนทั่วไปควรได้รับพลังงานประมาณวันละ 2,000 แคลอรี่ และควรทานน้ำตาลน้อยกว่า 25 กรัมต่อวัน หรือไม่เกิน 6 ช้อนชา ซึ่งคิดรวมทั้งน้ำตาลที่เติมลงไปในอาหารหรือเครื่องดื่ม (added sugar) น้ำตาลในน้ำจิ้ม และน้ำตาลจากผลไม้ หรือน้ำผลไม้ด้วย

    แน่นอนว่าหลายคนไม่สามารถจำกัดปริมาณแคลอรี่ และน้ำตาลตามที่ WHO แนะนำได้ (เค้ก 1 ชิ้น หรือ เครื่องดื่มบางชนิดขวดเดียวก็เกินแล้ว) จึงเกิดผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว สารที่ออกฤทธิ์คล้ายการควบคุมอาหารสามารถช่วยลดผลกระทบจากการรับประทานมากเกินไปได้ ดังนั้นสารเหล่านี้จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นยาอายุวัฒนะในยุคที่วิทยาศาสตร์การแพทย์มีความก้าวหน้า

    ผลของการรับประทานสารที่ออกฤทธิ์คล้ายกับการควบคุมอาหาร จะทำให้การสะสมไขมัน การเพิ่มขึ้นของน้ำหนัก และความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคเรื้อรังลดลง ปัจจุบันยังไม่แน่ชัดว่าสารที่ออกฤทธิ์ผ่านกลไกใดเหมาะสมที่สุดสำหรับการนำมาใช้เป็นสารที่ออกฤทธิ์คล้ายกับการควบคุมอาหาร แต่พบว่ามีกลไกในการออกฤทธิ์ที่เชื่อมโยงกับการยืดอายุสิ่งมีชีวิต เช่น การออกฤทธิ๋ผ่านการกระตุ้น AMPK, sirtuin หรือ MTOR ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจในการวิจัยและพัฒนาสารชะลอวัยเหล่านี้

ส้ม ผลไม้


ตัวอย่างสารที่ออกฤทธิ์คล้ายกับการควบคุมอาหาร

1) ยารักษาเบาหวาน Metformin
    แม้ว่าจะมีการพัฒนายาต้านเบาหวานขึ้นมาหลายชนิด แต่สิ่งที่ทำให้ Metformin เป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งในการรักษาเบาหวาน (first-line drug) เพราะยาชนิดนี้ทำได้มากกว่าการลดระดับน้ำตาลในเลือด จากงานวิจัยพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาชนิดนี้จะมีอายุยืนยาวขึ้นและมีความเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากระบบหัวใจและหลอดเลือดน้อยลง เพราะฉะนั้นหากคุณเป็นเบาหวานหรือมีคนใกล้ชิดเป็นเบาหวาน การไม่รับประทานยาชนิดนี้ตามคำแนะนำของแพทย์แล้วไปหันไปหาทางเลือกในการรักษาอื่น ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง (ยกเว้นมีข้อห้ามใช้)

2) อาหารเพื่อสุขภาพสไตล์โอกินาวา
    ชาวโอกินาวามีชื่อเสียงในเรื่องการดูแลสุขภาพได้ดี และมีอายุที่ยืนยาวที่สุดในโลก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากอาหารที่รับประทาน ในอาหารของชาวโอกินาวามักจะมีเครื่องเทศและสมุนไพรผสมอยู่ ตัวอย่างวัตถุดิบที่ใช้บ่อย ได้แก่ มันเทศ มะระ ขมิ้น ขมิ้นขาว พริกไทย ขิง และถั่ว วัตถุดิบเหล่านี้มีสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ สารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ หรือ สารอื่นที่มีคุณสมบัติเป็นสารที่ออกฤทธิ์คล้ายกับการควบคุมอาหารอยู่ สิ่งที่น่าสนใจคือวัตถุดิบหลายชนิดสามารถหาได้และมีการใช้ในประเทศไทยเช่นกัน

3) สารในกลุ่มโพลีฟีนอลอื่นๆ (Polyphenols)
    สารในกลุ่มโพลีฟีนอลในผักและผลไม้หลายชนิดเป็นสามารถออกฤทธิ์คล้ายกับการควบคุมอาหารได้ ในผลไม้และน้ำหวานมีน้ำตาลเหมือนกันแต่ทานแล้วอาจจะได้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน เพราะการทานผลไม้ทำให้เราได้รับคุณประโยชน์อื่นจากผลไม้ไปด้วย เช่น สารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ และสารในกลุ่มสติลบีนอยด์ จึงเป็นสาเหตุให้กลุ่มผู้ที่ทานผลไม้ทดแทนการทานอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล มักจะสามารถควบคุมน้ำหนักได้และมีสุขภาพดี แม้จะได้รับปริมาณคาร์โบไฮเดรตใกล้เคียงกัน 
แต่สำหรับผู้รับประทานอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลเยอะอยู่แล้ว น้ำตาลจากผลไม้ก็อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพและการควบคุมน้ำหนักได้เช่นกัน จึงอาจเลือกรับประทานสารในกลุ่มโพลีฟีนอลจากพืชผักที่มีน้ำตาลน้อยกว่าแทนผลไม้ เพื่อจำกัดปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับไม่ให้มากเกินไป

คำแนะนำจากเรา

- หากเป็นไปได้ควรจำกัดปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับต่อวันให้เหมาะสม และควรได้รับน้ำตาลน้อยกว่า 6 ช้อนชาต่อวัน ตามคำแนะนำของ WHO
- การควบคุมอาหารเพื่อสุขภาพไม่ใช่การจำกัดแคลอรี่และน้ำตาลที่ได้รับให้น้อยที่สุด ต้องคำนึงถึงการได้รับสารอาหารเพียงพอต่อร่างกายด้วย (ไม่มากไม่น้อยเกินไป)
- หากต้องการทานน้ำหวานหรือขนมหวาน อาจเลือกทานผลไม้สดแทน หรือทานน้ำผลไม้ที่ไม่ผ่านกระบวนการที่ทำให้สูญเสียสารสำคัญมากเกินไป โดยหากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการเติมน้ำเชื่อม หรือน้ำตาลเพิ่มลงไปในน้ำผลไม้
- หากต้องทำหรือทานขนมหวาน ควรลดอัตราส่วนแป้งและน้ำตาลลง เพิ่มรสชาติและความหวานโดยใช้ผลไม้สดแทน เช่น ส้ม องุ่น หรือผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
- ในวันที่ทานแป้งหรือน้ำตาลเยอะแล้ว การทานพืชผัก อาหารเสริม (บางชนิด) หรือยา (ตามความเหมาะสม) อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการทานผลไม้เพิ่ม เนื่องจากปริมาณแคลอรี่และน้ำตาลที่ได้รับน้อยกว่า
- การรับประทานสารที่ออกฤทธิ์คล้ายกับการควบคุมอาหารสามารถช่วยชะลอวัย ลดความเสี่ยงและชะลอการเกิดโรคได้ แต่ประสิทธิภาพอาจลดลงตามปริมาณแคลอรี่และน้ำตาลที่รับประทาน รวมถึงขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพ เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ และการออกกำลังกายด้วย

รูปภาพโดย Gibb Corner
เรียบเรียงโดย Gibb Corner

 แหล่งอ้างอิง

Quideau (2014). doi: 10.1002/cbic.200300835
WHO (2015). https://www.who.int/nutrition/publications/guidelines/sugars_intake/en/
Willcox, B. J., & Willcox, D. C. (2014). doi: 10.1097/MCO.0000000000000019



Comments

Popular posts from this blog

รับประทานวิตามินบีแล้วปัสสาวะเป็นสีเหลือง ปลอดภัยหรือไม่?

“ความเครียดเกิดง่าย L-Theanine จึงน่าสนใจ”