กัญชา
ในปัจจุบันเริ่มมีการปลดล็อกการใช้ประโยชน์จากกัญชาในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งอาจจะมีระดับการอนุญาตให้นำไปใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากัญชากำลังกลายเป็นพืชเศรฐกิจสำคัญของโลกที่สั่นสะเทือนไปทั้งวงการวิจัยและพัฒนายา เครื่องสำอาง รวมถึงอาหารและเครื่องดื่ม ความเข้าใจเกี่ยวกับกัญชาอาจมีประโยชน์ในการดูแลสุขภาพของใครหลายคน ดังนั้นวันนี้เราจึงนำตัวอย่างสาระความรู้เกี่ยวกับศักยภาพของกัญชามาฝากทุกท่านพืชสกุลกัญชา (Cannabis) สามารถสังเคราะห์ และสะสมสารมากกว่าร้อยชนิด ซึ่งไม่สามารถพบในพืชอื่นได้ สารเหล่านี้เรียกว่า สารในกลุ่มแคนนาบินอยด์ (cannabinoids) ในกัญชาแต่ละสายพันธุ์จะมีชนิดและปริมาณสารในกลุ่มนี้แตกต่างกัน สารในกลุ่มแคนนาบินอยด์ที่สำคัญ ได้แก่ Δ9-tetrahydrocannabinol (Δ9-THC) และ cannabidiol (CBD)
ข้อสังเกตที่น่าสนใจ
- แม้ว่า Δ9-THC และ CBD จะเป็นสารหลักในการออกฤทธิ์ แต่สารชนิดอื่นที่พบในกัญชาก็มีฤทธิ์ที่น่าสนใจ และสามารถเสริมฤทธิ์ของสารสองชนิดนี้ได้- สารในกลุ่มแคนนาบินอยด์เหล่านี้ไม่ค่อยมีกลิ่น แต่กลิ่นหอมในกัญชามาจากสารในกลุ่มเทอร์พีน (terpenes)
ข้อควรระวัง ⚠
กัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์แต่ก็สามารถก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้นควรศึกษาข้อมูลวิธีใช้และรับฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญให้ดีก่อนผลข้างเคียงที่ควรระวังเมื่อใช้กัญชา
- แพ้ (เกิดผื่นลมพิษ ไปจนถึงอาการบวมหายใจไม่ออก)- ฤทธิ์เสพติดเมื่อใช้เป็นระยะเวลานาน
- หลอดเลือดอักเสบ
- เกิดความผิดปกติทางจิต
- อาการอักเสบและมะเร็งในช่องปาก (เมื่อใช้ผ่านการสูบ ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามเวลาและความถี่ในการสูบ*)
*หมายเหตุ
- แม้ว่าสารบางชนิดในกัญชาจะมีฤทธิ์ต้านมะเร็งแต่ในควันจากการสูบกัญชาก็มีสารก่อมะเร็งด้วย เช่น benzopyrene, nitrosamines และ aromatic hydrocarbons
- การเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากกัญชาอาจแตกต่างกันไปตามวิธีใช้กัญชา การนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์สามารถใช้ในรูปแบบสารสกัด หรือสารบริสุทธิ์ ซึ่งการเลือกใช้อย่างเหมาะสมสามารถลดโอกาสการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้
ประโยชน์ของกัญชา
1. ใช้เป็นยารักษาโรค
ในต่างประเทศมีการวิจัยและพัฒนายาจนสามารถผลิตยาแผนปัจจุบันจากกัญชาอย่างถูกกฎหมายได้แล้ว เช่น
✔ ยารูปแบบพ่นเข้าทางปาก Sativex (Nabiximols) เป็นสารสกัดจากกัญชาที่ประกอบด้วย THC และ CBD ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ใช้รักษาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง
✔ ยารับประทานรูปแบบแคปซูล Marinol (dronabinol) มีส่วนประกอบสำคัญเป็นสาร Δ9-THC ที่ได้จากการสังเคราะห์ (โครงสร้างเหมือนสาร Δ9-THC ที่พบในกัญชา) ใช้ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็ง กระตุ้นความอยากอาหารในผู้ป่วยเอดส์ และลดอาการปวดในผู้ ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อม
✔ ยารับประทานรูปแบบแคปซูล Cesamet (nabilone) มีส่วนประกอบสำคัญเป็นสารอนุพันธ์ของ THC ที่ได้จากการสังเคราะห์โดยการดัดแปลงโครงสร้าง ใช้ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็ง
📌 หมายเหตุ สำหรับการรักษามะเร็ง จากข้อมูลงานวิจัยยังไม่พบวิธีการที่ชัดเจนในการใช้กัญชารักษามะเร็งให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะการใช้กัญชาเพียงอย่างเดียวในการรักษา ซึ่งเป็นวิธีการที่ควรระวังเพราะอาจกระตุ้นการเติบโตของเซลล์มะเร็งบางชนิดได้ แต่การใช้กัญชาอาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการรักษาหากใช้ร่วมกับการรักษาและการดูแลสุขภาพอื่นๆ
สำหรับในประเทศไทยกำลังเริ่มปลดล็อกและผลักดันการใช้ประโยชน์กัญชาทางแพทย์ ซึ่งนอกจากการใช้ในรูปแบบยาแผนปัจจุบัน เราอาจจะได้เห็นการกลับมาใช้กัญชาในรูปแบบยาแผนโบราณอีกด้วย ปัจจุบันมีตำรับยาแผนไทยมียาที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ 16 ตำรับ ที่ได้รับการยอมรับจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอาจนำมาใช้ประโยชน์ใน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มคลายเครียด กลุ่มโรคมะเร็งตับ กลุ่มแก้ปวดเมื่อย/กันชัก และกลุ่มกษัย (เบาหวาน)
⛳ คำกล่าวว่ากัญชาสามารถรักษาได้หายขาดทุกชนิดเป็นการกล่าวอ้างที่เกินจริง กัญชาก็ยังนับว่าเป็นพืชที่มีศักยภาพสูงสามารถใช้รักษา หรือเสริมประสิทธิภาพการรักษาโรคสำคัญหลายชนิด รวมถึงช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้ อย่างไรก็ตามการใช้กัญชาทางการแพทย์ด้วยวิธีใหม่ หรือข้อบ่งใช้ใหม่ ต้องควบคุมคุณภาพการผลิตให้ได้มาตรฐาน และควรมีหลักฐานการศึกษาวิจัยในมนุษย์ให้ชัดเจนเพื่อยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัย จึงต้องการเวลาวิจัยและพัฒนาตามขั้นตอนที่เหมาะสมก่อนจะนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง
2. ใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง
ปัจจุบันหลักฐานจากงานวิจัยทางคลินิก (clinical study) เกี่ยวกับประสิทธิภาพของกัญชาในการดูแลผิวยังไม่ชัดเจน แต่งานวิจัยหลายชิ้นก็บ่งชี้ถึงศักยภาพของกัญชาในการนำไปแก้ปัญหาเกี่ยวกับโรคผิวหนัง เช่น
▶ ลดการเกิดสิว: สาร CBD จากกัญชามีฤทธิ์ช่วยลดการสร้างไขมัน และต้านการอักเสบ ในเซลล์ต่อมไขมันได้
▶ มะเร็งผิวหนัง: จากการศึกษาในหลอดทดลองพบว่า สาร THC จากกัญชามีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ และชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็งผิวหนัง
ปัจจุบันในกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกา สารจากกัญชาโดยเฉพาะ CBD ซึ่งมีฤทธิ์เสพติดน้อยและมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง CBD เริ่มเป็นที่นิยมสำหรับนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องสำอาง โลชั่น และแชมพู นอกจากนี้กัญชายังมีกลิ่นหอมจากสารในกลุ่มเทอร์พีนที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์ต่างๆได้
⛳ แม้ว่าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ CBD หรือส่วนผสมจากกัญชาจะดูน่าสนใจ แต่เรื่องประสิทธิภาพอาจยังไม่ชัดเจน ผู้บริโภคจึงต้องระวังการอวดอ้างโฆษณาสรรพคุณเกินจริงจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้
3. ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหาร
🍜 ก๋วยเตี๋ยวใส่กัญชา และการใช้กัญชาเพื่อความบันเทิงยังไม่ถูกฎหมายในไทย แต่อาหารและเครื่องดื่มจากกัญชาถูกกฎหมายในบางพื้นที่ของโลก ข้อดีของการแปรรูปกัญชาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับรับประทานคือสามารถลดอาการไม่พึงประสงค์ และลดความเสี่ยงจากสารก่อมะเร็งได้เมื่อเปรียบเทียบกับการสูบกัญชา อย่างไรก็ตามการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมจากกัญชาจะออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทช้า (1-3 ชั่วโมง หลังจากรับประทาน) จึงเสี่ยงต่อการบริโภคเกินขนาดซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงจำเป็นต้องควบคุมให้มีการระบุและจำกัดปริมาณสูงสุดในการรับประทานที่ชัดเจน
🍪 ในต่างประเทศมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชาเพื่อจำหน่าย เช่น ขนมคุกกี้ บราวนี่ ลูกอม ช็อคโกแลต รวมถึงกัญชาในรูปแบบชงดื่ม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผลิตภัณฑ์จากกัญชาสร้างกระแสความสนใจ และโอกาสทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อย แต่ยิ่งผลิตภัณฑ์น่าสนใจมากและมีความหลากหลาย โอกาสเกิดผลเสียก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วย เช่น ในสหรัฐอเมริกามีรายงานกรณีศึกษาว่า มีการได้รับผลกระทบจากการรับประทานผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกัญชาเกินขนาดจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และเป็นสาเหตุนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ดังนั้นประสิทธิภาพในการควบคุมการใช้กัญชาอย่างเหมาะสมจึงเป็นหัวใจสำคัญของการใช้ประโยชน์จากกัญชา
ในประเทศไทยกำลังมีกระแสการสนับสนุนกัญชาเสรี ซึ่งกำลังเป็นประเด็นถกเถียงที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากสังคม หากมีการดำเนินการอย่างเหมาะสมจากภาครัฐ ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นกัญชากลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศก็เป็นได้ 💸
📚 แหล่งอ้างอิง
- Abrams & Guzman (2015). doi:10.1002/cpt.108
- Benjamin & Fossler (2016). doi:10.1002/jcph.778
- Borodovsky (2017). doi:10.1016/j.drugpo.2017.09.014
- Clarke & Watson (2007). doi:10.1007/978-1-59259-947-9_1
- Dhadwal & Kirchhof (2018). doi:10.1177/1203475417738971
- Frost (2018). doi:10.1177/1203475417738971
- Oláh et al. (2014). doi: 10.1172/JCI64628
- WHO (2018). https://www.who.int/medicines/access/controlled-substances/WHOCBDReportMay2018-2.pdf
- https://oryor.com/digi_dev/detail/media_printing/1740?fbclid=IwAR2D2pa6carnRwpQKPE1cHCmIi2kyV7pew4zZ4IRV5jm-g-jXDDCNYltQA4
- https://www.gpo.or.th/LinkClick.aspx?fileticket=IfSuh2BT-FA%3D&tabid=388&mid=1186&language=th-TH
- https://www.drugs.com/illicit/cannabis.html
Comments
Post a Comment