👉 อินทผลัมทานแล้วระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูง? ผู้ป่วยเบาหวานก็ทานได้ จริงหรือไม่? 👈
🕵♂หากคุณเคยค้นหาสรรพคุณของอินทผลัม อาจพบข้อความกล่าวอ้างว่า “การทานอินทผลัมไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และผู้ป่วยเบาหวานสามารถทานได้” โดยอาจมีการดัดแปลง หรือเสริมข้อความอื่นเพิ่มเติม โดยอ้างอิงจากงานวิจัยของ Dr. Alkaabi ที่ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติปี ค.ศ. 2011 [1] ซึ่งการอ้างอิงสั้น ๆ อาจสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และนำไปสู่วิธีการบริโภคอินทผลัมที่ไม่เหมาะสม ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้ ดังนั้นในบทความนี้เราจึงต้องการนำเสนอข้อมูลรายละเอียดในงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจเกี่ยวกับอินทผลัม
👨🏫 งานวิจัยของ Dr. Alkaabi และคณะ (2011) เป็นการวิจัยในอาสาสมัครสุขภาพดี และอาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยเบาหวาน โดยวิธีการหาค่า glycemic index (GI) ซึ่งเป็นการวัดค่าระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดหลังจากรับประทานอาหาร ก่อนการทดสอบอาสาสมัครทั้งสองกลุ่มต้องอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก่อนรับประทานน้ำตาลกลูโคส 50 กรัม หรือ ผลอินทผลัมที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตเทียบเท่ากับกลูโคส 50 กรัม
👨🔬 ผลการศึกษาพบว่าระดับค่า GI ของผลอินผลัม อยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง (เมื่อเทียบกับการทานกลูโคส 50 กรัม) ทั้งในอาสาสมัครสุขภาพดีและอาสาสมัครที่เป็นเบาหวาน นำไปสู่การกล่าวอ้างว่า “การทานอินทผลัมไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ผู้ป่วยเบาหวานสามารถทานได้” แต่ในเอกสารงานวิจัยมีการให้ความเห็นว่า ค่า GI ที่ต่ำ มีสาเหตุมาจากองค์ประกอบของสารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่พบในอินทผลัมสุก (ส่วนใหญ่เป็นน้ำตาลกลูโคสและฟรักโตส ในอัตราส่วนประมาณ 1:1) ซึ่งสัดส่วนน้ำตาลฟรักโตสที่สูงทำให้ค่า GI ของอินทผลัมต่ำนั่นเอง นอกจากนี้ในงานวิจัยดังกล่าวมีจุดที่ควรสังเกตว่ากลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นอาสาสมัครเป็นผู้ป่วยที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลและดูแลสุขภาพได้ดี ค่าเฉลี่ยน้ำตาลในเลือดของอาสาสมัครที่เป็นเบาหวานก่อนการทดสอบมีค่า HbA1C เพียง 6.6 % และ FBS 116.1 mg/dl รวมถึงผู้วิจัยยังระบุไว้อย่างชัดเจนว่าผลการศึกษาไม่สามารถขยายผลเพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยเบาหวานเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
📖 อินทผลัมเป็นผลไม้ที่มีจุดเด่น คือ ให้พลังงานสูง (ประมาณ 300 กิโลแคลลอรี่ต่อขีด) คาร์โบไฮเดรตสูง (44-88%) ใยอาหารสูง (6.4-11.5%) มีปริมาณแร่ธาตุที่น่าสนใจ รวมถึงมีสารในกลุ่มฟีนอลิก ฟลาโวนอยด์ และ แคโรทีนอยด์เป็นส่วนประกอบ อินทผลัมจึงสามารถใช้ทานเพื่อเป็นแหล่งพลังงานและสารอาหารเพื่อชดเชยในช่วงหลังการอดอาหารได้ดี ซึ่งชาวมุสลิมนิยมทานอินทผลัมในช่วงการละศีลอด รวมถึงสามารถทานเป็นอาหารมื้อหลักได้
⭐ อินทผลัม 1 ผล ให้พลังงานประมาณ 20 กิโลแคลลอรี่ การทานในปริมาณน้อยไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม การทานอินทผลัมเป็นขนมขบเคี้ยวในปริมาณที่สูงเกินไป แตกต่างจากวิธีการรับประทานในช่วงท้องว่างเพื่อชดเชยแหล่งพลังงานหลัก และขาดความสอดคล้องกับข้อมูลงานวิจัยอย่างสิ้นเชิง การทานอินทผลัมในปริมาณมากอาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงานและน้ำตาลฟรักโตสสูงเกินความจำเป็นและส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนั้น การทานอินทผลัมให้ได้ประโยชน์สูงสุด ควรทานอินทผลัมในปริมาณจำกัด ค่อย ๆ เคี้ยวอย่างช้า ๆ โดยอาจลดการบริโภคคาร์โบไฮเดรตชนิดอื่น หรือเพิ่มการออกกำลังกายตามความเหมาะสม [2, 3]
⭐ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน น้ำตาลยังคงเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่จำเป็นต่อร่างกาย ผู้ป่วยเบาหวานสามารถทานผลไม้ที่มีน้ำตาลได้ ⚠แต่ควรระมัดระวังในเรื่องความเหมาะสมของปริมาณที่รับประทาน [4]
ด้วยความห่วงใยจาก Gibb Corner 💕
📚 แหล่งอ้างอิง
[1] Alkaabi et al. (2011). http://www.nutritionj.com/content/10/1/59
[2] Chaudhary & Pankaj. (2018). https://doi.org/
10.1055/s-0038-1675670
[3] El-Far et al. (2018). DOI: 10.2174/1570163815666180320111937
[4] ADA (2018). http://www.diabetes.org/diabetes-basics/myths
[1] Alkaabi et al. (2011). http://www.nutritionj.com/content/10/1/59
[2] Chaudhary & Pankaj. (2018). https://doi.org/
10.1055/s-0038-1675670
[3] El-Far et al. (2018). DOI: 10.2174/1570163815666180320111937
[4] ADA (2018). http://www.diabetes.org/diabetes-basics/myths
Comments
Post a Comment